วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Collage ศิลปะการปะติด




Collage คือ อะไร



            คอลลาจ (Collage) คือ ลักษณะของวิธีการ หรือ เทคนิค (Technique) ในการสร้างสรรค์อีกแบบหนึ่ง โดยการใช้รูปภาพ หรือ พื้นผิวทั้งที่เป็นทั้งแบบจริง หรือ แบบที่ทำเทียมขึ้น เข้ามาใช้ในผลงานของเรา โดยการปะติดผิวต่างๆ เหล่านั้นลงบนภาพผลงาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องวาดขึ้นเอง

            เราสามารถสร้างสรรค์ด้วยวิธีการปะติด หรือ คอลลาจได้จาก รูปภาพ และ พื้นผิวได้อย่างหลากหลายตามที่คิดค้นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งรูปแบบ หรือวิธีการในการการนำมาประกอบกัน ในแต่ละแบบ ดังตัวอย่างที่ขอยกขึ้นมาเพื่อให้เกิดแนวคิดในการทำไปใช้ในการสร้างสรรค์ต่อไปได้

            Michael Mapes เขาใ่ช้รูปถ่ายภาพวาดที่มีชื่อเสียงในอดีต นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แคปซูล เศษผม วัสดุเล็กๆ ต่างๆ นำมาเรียงประกอบด้วย เข็มหมุดจำนวนมากมายโดยภายในภาพจะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงของชาวดัตช์หรือ ภาพถ่ายของภาพผลงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียง

Gilded female  16 x 16 x 3" 2015
Gilded Feที่มารูปภาพ : http://www.room62.com/dutch-masters/2015/9/11/gilded-female

            Richard Hamilton โปสเตอร์ที่ถูกจัดทำเพื่อใช้ในการแสดงนิทรรศการ สัดส่วนของสิ่งที่ใช้นำมาประกอบเข้าภายในภาพ เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างน่าสนใจ ภาพตึกที่อยู่ภายนอก ผ่านหน้าต่างในสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในห้อง ภาพนักกล้ามที่ถืออมยิ้มในขนาดที่ทำให้นึกถึงคทามากกว่าที่จะเป็นขนม และมาลีรีน นั่งบนโซฟา โปสเตอร์ที่ถูกติดอยู่ที่ผนังห้อง ภาพคนในกรอบที่ติดอยู่ข้างกัน เตียงนอนลายเสือ เครื่องเล่นเพลง ทีวี ซึ่งถ้าเราหมายถึงเทคโนโลยีที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่สามารถตกแต่งภาพด้วยการ ย่อ ขยาย กลับภาพไปมาได้แล้ว แต่ละชิ้นส่วนที่ถูกคัดเลือกมานับว่าไม่ง่ายนักที่จะหามาประกอบกันได้ในสมัยนั้นเลย (1956)

 

ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Just_what_is_it_that_makes_today%27s_homes_so_different,_so_appealing%3F


            Peter Clark สร้างสรรค์ผลงานด้วยกระดาษต่างๆ ที่มีลวดลาย พื้นผิว ตัวอักษร ในสี และน้ำหนักที่หลากหลายโดยนำมาประกอบกันเป็นผลงานคอลลาจได้อย่างสวยงาม ผลงานของเขามีหลายรูปแบบ บางครั้งเป็นรูปสุนัข สิ่งของเครื่องใช่้ ชุด เครื่องประดับ คน เป็นต้น


ที่มารูปภาพ : http://www.peterclarkcollage.com/pages/other.html
ที่มารูปภาพ : http://www.peterclarkcollage.com/pages/dogs.html
    

               Kathleen Dalrymple นำเทคนิคการ Mosiac มาใช้ในผลงานของเธอ เธอนำเอากระเบื้อง กระจกสีต่างๆ ที่ถูกจัดการรูปร่างให้เข้ากันกับเรื่องที่ต้องการแสดงออกแล้วมาประกอบกันเป็นรูปทรงต่างๆ ที่ได้เตรียมไว้


Large Glass on Glass mosaic window of a parrot
ที่มารูปภาพ : http://kathleendalrymple-glassartist.blogspot.com/ 

            Cathy Camper นำเอาเมล็ดพืชหลากหลายชนิดมาใช้ในการสร้างผลงาน ซึ่งเมล็ดพืชแต่ละชนิดก็มีสีสัน ขนาด น้ำหนักที่แตกต่างนั้นถูกเลือกนำมาวางเรียงประกอบกันเป็นภาพคนสำคัญต่างๆ นอกจากภาพคน บ้างครั้งก็มี นก ตัวอักษรเข้ามาเป็นส่วนประกอบของภาพด้วย

Beautiful Sea

ที่มารูปภาพ http://www.cropart.com/dcathyca.dir/029_cc_beautiful.htm

Bo Diddley

ที่มารูปภาพ : http://www.cropart.com/dcathyca.dir/033_cc_bodiddley.htm


โดย  ศันสนีย์  รุ่งเรืองสาคร

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Realistic ศิลปะแบบเหมือนจริง


       Realistic งานศิลปะอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมมาต่อเนื่องตั้งแต่อดีต จนปัจจุบันและต่อไปในอนาคต เนื่องจากเข้าใจง่าย ผู้ชมเข้าใจภาพแต่ละภาพได้เนื่องจากศิลปินแสดงออกตรงๆ ด้วยรูปทรงที่เหมือนจริง แม้ว่าการสื่อความหมายมาสู่ผู้ดูนั้นง่ายดังที่กล่าวแต่การแสดงออกนั้นก็กลับไม่ง่ายด้วยการแสดงฝีมือของศิลปินนั้นเต็มไปด้วยความตั้งใจ และพิถีพิถันต่อผลงานในแต่ละชิ้นๆ
       ศิลปินนำเสนอแนวคิดที่ตรงชัด ด้วยองค์ประกอบที่เน้นชัดไปที่ตัวรูปทรง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองใดก็สามารถทำให้เราเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าต้องการแสดงออกถึงสิ่งใด การจัดน้ำหนักให้เห็นความตื้นลึกของรูปทรง
       มีศิลปินในยุคปัจจุบันมากมายที่นำเสนอการแสดงออกด้วย รูปแบบ Realistic ลองดูตัวอย่างบางท่านที่ยกมา ณ ที่นี้ ว่ามีใครกันบ้างเพื่อนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์กันต่อไป

       Tjalf Sparnaay นำอาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ 




Chuck Close ริ้วรอยบนหน้าของคน



Riusuke Fukahori ภาพปลาในถังน้ำ

       
ที่มาของรูป : http://www.welikeviral.com/kid-photographs-something-amazing.html

       Marcello Barenghi วาดสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัว






     Teresa Elliott ภาพเด็กน้อย



Serge Marshennikov หญิงสาว บนที่นอน


     A Eric Christensen ขวดไวน์ แก้วไวน์ ผลไม้ ขนม บนโต๊ะอาหาร





วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แนะนำตัว

     ศันสนีย์ รุ่งเรืองสาคร ชื่อและนามสกุลจริงของตัวผู้เขียนบล๊อกนี้เองเป็นชื่อที่ใช้มาตั้งแต่เกิด โดยไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงไปใช่ชื่อที่มีความหมาย หรือมีมงคลอะไรกว่านี้แล้วทั้งสิ้น ชื่อที่คนจำเราได้นั่นแหล่ะมันดีที่สุดสำหรับตัวเราแล้วล่ะ แต่มันก็แล้วแต่ความคิดความเชื่อของใครก็ของมันละนะจ้ะไม่ได้คิดไปว่าใครใดๆ หรอก
     ตั้งแต่ลืมตามาบนโลกแล้ว เมื่อเป็นเด็กเป็นเล็กก็เริ่มรู้ตัวเองแล้วว่าชอบ และมีสมาธิดีกับการขีดเขียนๆ วาดรูป ระบายสี ชอบมากๆ เป็นเหตุนำมาให้ต้องมาเรียนศิลปะ ที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 48 ตั้งแต่ปี 2534 พากเพียรเรียนศิลปะจนจบทั้งปริญญาตรี และโท เหน็ดเหนื่อยเอาเรื่องเอาการเชียวแหล่ะ และปัจจุบันได้มาเป็นครูสอนวิชาองค์ประกอบศิลป์ที่วิทยาลัยช่างศิลป เริ่มตั้งแต่ปี 2544 เผลอแป็บเดียว 14 ปีกว่าละ ไม่น่าเชื่อไวจริงๆ ปีนี้ 2558 เวลามันผ่านไปไวเหมือนโกหก ประดุจดังละครก็ไม่ปาน นี่แหล่ะหนาชีวิตคนเราจะทำอะไรให้รีบทำไม่งั้นแก่ไม่รู้ด้วย เอาเถอะบทความนี้เป็นบทแรกในบล็อกนี้ เป็นเหมือนการทดลองเขียนสักนิดสักหน่อยเพื่อเป็นน้ำจิ้มในการเข้าสู่เนื้อหาต่อไป

     บล็อกนี้สร้างขึ้นเพื่อเหตุผลหลายประการ หลักๆ ก็ต้องการเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปะ ที่ร่ำเรียนมาหลายปีดีดัก พร้อมทั้งประสบการณ์ที่ได้ปฏิบัติการสร้างสรรค์ศิลปะจริง บวกกับการสอนมาหลายปี อีกเหตุผลสำคัญเพราะต้องการให้ความรู้แก่ผู้เรียน และผู้ที่สนใจ มันจะเป็นอะไรที่สร้างให้ประสบการของท่านดีมากขึ้น บางที่ฟังครั้งสองครั้งก็ยังไม่เข้าใจ ฟังอีกสักครั้งหรือหลายครั้งก็อาจจะดีขึ้นบ้างก็เป็นได้ นี่เป็นความหวังของครูคนนึงบนโลกใบนี้ ใครอ่านก็ยิ่งได้ ความรู้อยู่ที่ฝึกฝน พรสวรรค์นั่นมันส่วนเล็กน้อย อยากได้ต้องรู้ ต้องฝึกฝน คนพยายามก็ย่อมได้รับผลที่ดีแน่นอน ศิลปะมันก็เหมือนงานการในแขนงอื่นน่ะแหล่ะ ถ้าเราสนใจ เราชอบสิ่งใด เรามักทำสิ่งนั่นได้ดี หรือถ้ามันยังไม่ดี เราทำมันหลายรอบมันก็ต้องพัฒนาการบ้างแหล่ะ มันก็เป็นแค่เรื่องธรรมดาที่ทำยาก เพราะต้องอาศัยความมีวินัย ความพยายาม ความอดทนมากพอสมควร

     สุดท้ายของสารฉบับแรก ก็ขอให้ติดตามตอนต่อๆไป ที่คิดว่าน่าจะให้ความรู้ได้แน่แต่มันจะน้อยหรือมากก็แล้วแต่ส่วนประกอบต่างๆหลายประการ ที่สำคัญที่สุดหวังว่าผู้เขียนก็จะพยายามขยันเขียนออกมาเรื่อยๆนะจ้ะ โปรดติดตามตอนต่อไป